เปลี่ยนการแสดงผล
แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีขาว
แสดงผลปกติ
แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีเหลือง
A-
A
A+
เปลี่ยนภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

ไข้เลือดออก (Dengue fever)

เผยแพร่เมื่อ 1 ก.ย. 2567 19:09 น.
เข้าชมแล้ว 354 ครั้ง
ไข้เลือดออก (Dengue fever)

ไข้เลือดออก (Dengue fever)
     คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคสู่คนผ่านการกัดของยุงลายที่เคยกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี 1 ใน 4 สายพันธุ์ (DENV-1—DENV-4) ที่ทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกอาจไม่มีอาการใด ๆ ไปจนถึงมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง ไข้เลือดออกรุนแรงอาจทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิต ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

ไข้เลือดออก สาเหตุเกิดจากอะไร?
     ไข้เลือดออก (Dengue fever) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV)  1 ใน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2,  DENV-3 หรือ DENV-4 ผ่านการกัดของยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมีย (Aedes aegypti) สัตว์พาหะนำโรคที่ชอบออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายพาหะกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในระยะที่มีไข้หรือในระยะไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด ไวรัสเดงกีจะเข้าไปฝังตัวภายในเซลล์ผนังกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลายของยุงลายพาหะ และจะเข้าสู่ระยะฟักตัวและเพิ่มจำนวนใน 8 - 12 วัน จากนั้นเมื่อยุงลายพาหะไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้มีอาการของโรคไข้เลือดออกภายใน 3 - 15 วัน

ไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร?
     ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี (DENV) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกกว่าร้อยละ 90 มักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดธรรมดา โดยเริ่มมีอาการใน 4-10 วันหลังจากที่โดนยุงลายพาหะกัดและผ่านพ้นระยะฟักตัวของไวรัสไปแล้ว ในกรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งที่ 2 และเป็นเชื้อไวรัสเดงกีต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการของไข้เลือดออกอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever) อาการไข้เลือดออกแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

     ระยะไข้สูง (Febrile phase) เป็นระยะที่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีมีไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ ระยะไข้สูงมีอาการดังต่อไปนี้ปวดศีรษะ หน้าแดง
ปวดเบ้าตา ปวดรอบกระบอกตา  คลื่นไส้ อาเจียน  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เบื่ออาหาร  ปวดข้อ หรือปวดกระดูก  มีจ้ำเลือด หรือผื่นแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนังร่างกาย  อาจมีอาการปวดท้อง (บริเวณชายโครงขวา) กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่ 

     ระยะวิกฤต (Critical phase) เป็นระยะที่ 2 ของโรคไข้เลือดออกหรือประมาณ 3-7 วันหลังระยะไข้สูง ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้ ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกจากไข้สูง หรือช็อกจากอาการเลือดออกที่อวัยวะภายในที่เกิดจากสารน้ำในหลอดเลือดรั่วไหลออกนอกหลอดเลือด เช่น น้ำเหลืองรั่วไหลไปยังช่องปอด ตับ หรือช่องท้อง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชัก หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นที่นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ระยะวิกฤตมีอาการดังต่อไปนี้ปวดท้องอย่างรุนแรง (บริเวณชายโครงขวา) ที่อาจมีสาเหตุจากภาวะตับโต (Hepatomegaly) คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร
     ภาวะเลือดออกผิดปกติ  เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล  ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด  มีจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง  หายใจลำบาก หายใจถี่เร็ว  อาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย  เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีอาการซึม มือเท้าเย็น ตัวเย็น
มีเหงื่อออกตามตัว  ปัสสาวะน้อย  ชีพจรเบาเร็ว  ประจำเดือนมามาก หรือมานานผิดปกติ (ในเพศหญิง)
    ภาวะช็อกจากอาการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic shock) ที่มักเกิดขึ้นใน 3-8 วันหลังจากที่มีไข้สูงลอย  ไข้ลดลดลงอย่างรวดเร็ว (มักเกิดพร้อม ๆ กับภาวะช็อก)  เลือดออกในทางเดินอาหาร (มักเกิดร่วมกับภาวะช็อก)  ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ วัดชีพจรไม่ได้ หรือความดันโลหิตลดต่ำในผู้ที่มีอาการรุนแรง  ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก (Dengue shock syndrome)  อาจเสียชีวิต
     ระยะฟื้นตัว (Recovery phase) เป็นระยะสุดท้ายของการเป็นไข้เลือดออก ผู้ที่ผ่านพ้นระยะไข้สูงที่ไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือผู้ที่ผ่านพ้นระยะวิกฤตมาแล้ว 1 - 2 วันจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว เป็นช่วงที่ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัว อาการต่าง ๆ ของโรคไข้เลือดออกค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ เส้นเลือดกลับมาทำงานตามปกติ โดยหากสังเกตเห็นผื่นแดงสาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกายแสดงว่ากำลังจะหายจากโรค เป็นระยะที่มีความปลอดภัย ระยะฟื้นตัวมีสัญญาณดังต่อไปนี้อาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ  ไข้ลดลง อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ  ชีพจรเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น  ปัสสาวะออกมากขึ้น  ภาวะตับโตลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์  อยากรับประทานอาหารมากขึ้น  มีผื่นสีแดงเล็ก ๆ สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย

การวินิจฉัยไข้เลือดออก มีวิธีการอย่างไร?
     แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกโดยการซักประวัติหากสัมผัสกับยุงลาย มีประวัติการเดินทางไปยังถิ่นระบาด รวมถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อประเมินอาการ และแยกโรคไข้เลือดออกจากโรคที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ไข้หวัด ไข้ซิก้า ไข้ชิคุนกุนยา หรือไข้มาลาเรีย โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

     การตรวจจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือการตรวจทูนิเก้ (Tourniquet test) เป็นการใช้สายทูนิเก้รัดต้นแขน หรือใช้เครื่องวัดความดันรัดบริเวณต้นแขนในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อนับจำนวนจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง
     ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC) เพื่อหาแอนติบอดี หรือสารบ่งชี้ต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกีในเลือด ตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยหากผลการตรวจมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำและความเข้มข้นของเลือดสูง ก็แสดงว่าอาจมีสารน้ำรั่วไหลออกจากหลอดเลือดซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของโรคไข้เลือดออก
     การตรวจภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อเชื้อไข้เลือดออก (Dengue NS1 Antigen; Dengue IgM, Dengue IgG) เป็นการตรวจหาแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้น 2 ชนิดเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก
     การตรวจหาสารพันธุกรรมระดับโมเลกุล (Polymerase chain reaction: PCR) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสเดงกีในสัปดาห์แรกที่มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกเพื่อยืนยันโรคและวินิจฉัยไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งใน 4 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นไข้เลือดออก

การรักษาไข้เลือดออก มีวิธีการอย่างไร?
     ทันทีที่ได้รับการยืนยันผลการตรวจ แพทย์จะให้การรักษาโรคไข้เลือดออกด้วยการช่วยให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ผู้ที่มีอาการในระยะไข้สูงจนถึงระยะวิกฤตที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสารน้ำรั่วไหลในร่างกาย แพทย์จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 24-48 ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะช็อก และให้การรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

     การให้สารน้ำทางหลอดเลือด (Fluids replacement) หรือให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ ในผู้ที่มีการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระอย่างต่อเนื่อง ความดันโลหิตต่ำหลังมีไข้สูง ไม่อยากอาหารหรือน้ำ แพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำ หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือด เพื่อชดเชยของเหลวในร่างกายที่สูญเสียไป
     การให้ยาแก้ปวดลดไข้ (Strong pain relievers) เช่น ยาพาราเซตามอน (Acetaminophen) หรือ ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อช่วยลดไข้ บรรเทาปวดกล้ามเนื้อและข้อ
     การให้ผงเกลือแร่โอ อาร์ เอส (ORS-Oral rehydration salt) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย
     การให้เลือด (Blood transfusion) ในกรณีที่มีเลือดออกมากทั้งจากอวัยวะภายใน ประจำเดือน อาเจียน หรืออุจจาระ แพทย์อาจพิจารณาให้เลือดเพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการสูญเสียเลือดในร่างกาย
ในการรักษา แพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องทำการเจาะเลือดเป็นระยะเพื่อตรวจค่าเลือด ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น หรือความดันโลหิตต่ำ

ภาวะแทรกซ้อน ไข้เลือดออกเป็นอย่างไร?
     ไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever) ที่ทำให้เลือดออกที่อวัยวะภายใน ทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก และอาจทำให้เสียชีวิตได้
     การติดเชื้อไวรัสเดงกีจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดตามธรรมชาติ (Mother-to-child viral transmission during childbirth) และคุณแม่ที่เป็นไข้เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์


ไข้เลือดออก เป็นซ้ำได้หรือไม่?
     ตลอดชีวิต มนุษย์สามารถติดเชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ซ้ำได้หลายครั้ง โดยหากเคยติดเชื้อสายพันธ์ใดสายพันธ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิตแต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีในอีก 3 สายพันธุ์ทีเหลือหรือมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว โดยอาการของโรคไข้เลือดออกจะทวีความรุนแรงขึ้นในการเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2, 3 หรือ 4

การป้องกัน ไข้เลือดออกมีวิธีการอย่างไร?
     ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น การทายากันยุง สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และสวมถุงเท้า หรือการใส่เสื้อผ้าที่มีการเคลือบสารกันยุง
ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันยุง (Mosquito repellents) ที่มีส่วนผสมของสาร DEET เพื่อป้องกันยุง  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขัง ทั้งในและรอบบริเวณบ้าน ใช้ฝาปิดครอบภาชนะหรือถังขยะ  ปิดหน้าต่างไม่ให้ยุงเข้า ติดมุ้งลวดที่ประตู หรือนอนในมุ้งลวดเพื่อกันยุง  การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ชนิดใหม่ (New 4 serotype dengue fever vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสเดงกีรุ่นล่าสุดที่ถูกพัฒนาให้สามารถป้องกันได้ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยสามารถเข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นปกติ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป สามารถพาบุตรหลานและทุกคนในครอบครัวเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่มีวัคซีนไว้คอยบริการ

การปฐมพยาบาลไข้เลือดออกเบื้องต้น มีวิธีการอย่างไร?
     ทานยาแก้ปวด ลดไข้กลุ่มพาราเซตามอน หรือ ยาอะเซตามีโนเฟน ห้ามทานยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมากขึ้น  จิบน้ำเกลือแร่โอ อาร์ เอส (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอาเจียนอย่างต่อเนื่อง  เช็ดตัวเป็นระยะด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย  ทานอาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ  หมั่นสังเกตอาการ หากมีไข้ขึ้นสูง และไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ควรรีบพบแพทย์
วัคซีนไข้เลือดออก 

     ในปัจจุบัน ไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ชนิดใหม่ (New 4 serotype dengue fever vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสเดงกีที่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี ทั้งในคนที่เคยเป็น หรือไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนโดยไม่จำเป็นเจาะเลือดหาภูมิต้านทาน วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ชนิดใหม่ เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ถึง 80.2% ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ และช่วยป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 90.4%

     ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ป้องกันและรักษาได้
ไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายที่อาจทำอันตรายถึงชีวิต เป็นโรคประจำถิ่นที่พบมากในประเทศเขตร้อน และมักมีวงจรการระบาดในช่วงฤดูฝน ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกทุกปี และยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้งผู้ที่ไม่เคยเป็น และผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคซ้ำ จึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้

     ผู้ที่มีอาการไข้สูงลอย อาเจียนอย่างต่อเนื่อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ชีพจรเต้นเบาเร็ว ปัสสาวะออกน้อย รู้สึกกระสับกระส่าย อ่อนเพลียอย่างมาก และมีอาการซึม ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่มีความชำนาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยรักษาอาการของโรคไข้เลือดออกให้หายได้โดยเร็ว